วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550

ชีวิตที่มีความสำเร็จ

น้องสองคนเล่าให้ฟังถึงการสอบวิชาค้นคว้าอิสระ ซึ่งมีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 16 กลุ่ม ผลการสอบมี 3 ระดับ คือ ผ่านโดยไม่มีเงื่อนไข ผ่านโดยมีเงื่อนไข และไม่ผ่าน ผลการสอบของน้องผ่านโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทั้ง 16 กลุ่มมีผ่านโดยไม่มีเงื่อนไขเพียง 2 กลุ่มน้องเป็นหนึ่งในสอง
เมื่อสิ้นสุดการสอบจะมีการคัดเลือกกลุ่มดีเยี่ยมเพื่อไปเสนอผลงาน กลุ่มของน้องไม่ได้รับเลือกในขั้นต้นน้องรู้สึกเสียหน้า พามาสู่ความเสียใจ แต่แล้ววาบคิดได้ว่า น้องตั้งเป้าการสอบครั้งนี้เพียงแค่ผ่านมิใช่หรือ ผ่านแล้วย่อมประสพผลแล้ว น้องถามเพื่อนที่นำเสนอด้วยกันว่าเสียใจหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพื่อนน้องให้เหตุผลว่าจะได้ไม่มีแรงกดดันต่อชีวิตที่เป็นปกติสุข






ในความคิดของผม
ความสำเร็จเกิดขึ้นมาตั้งแต่ได้ลงมือทำจนเกิดผล การนำเสนอเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ความสำเร็จสมบูรณ์ด้วยการดูดี แม้ไม่มีการนำเสนอ ผลงานย่อมมีประโยชน์ในตัวของผลงานอยู่แล้ว การผ่านโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นผลจากการทำงานเสร็จในระยะเวลาก่อนที่จะนำเสนอ การนำเสนอเป็นการยืนยันว่าผลงานนั้นมาจากการทำจริงของผู้นำเสนอ ผู้นำเสนอไม่ได้ให้ใครทำให้ หรือหยิบยกผลงานของผู้อื่นมานำเสนอ งานที่นำเสนอนี้ผ่านการกระทำของผู้นำเสนอ เมื่อทำจริงจึงคงทนต่อคำถามที่เกิดขึ้น
บางทีจุดประสงค์ของการนำเสนอเพื่อสอบนี้ มีเหตุผลอีกประการที่สำคัญคือการรักษามาตรฐานของ มหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่จะปล่อยมหาบัณฑิตออกไปเผชิญกับการตรวจสอบจากโจทย์จริงของชีวิต
โจทย์ที่จะต้องเผชิญหน้าอย่างสง่างาม ด้วยความรู้เท่าทันว่า ปรากฏการณ์ที่เห็นนั้นมีประเด็นอยู่ที่ใด คำถามของชีวิตจริงบางครั้งไม่ได้จำกัดกรอบ เราจึงแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราตีประเด็นจำกัดกรอบไว้ เราก็อาจไม่ได้บรรลุถึงความเป็นจริงของปรากฏการณ์นั้น
มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องการให้มหาบัณฑิตตีโจทย์แตกครับ เมื่อตีโจทย์ได้แล้วจึงรู้ว่าจะไปหาหนทางแก้มาจากไหน มีใครเคยแก้โจทย์เหล่านี้บ้างไหม มีใครเคยพูดอะไรไว้เกี่ยวกับประเด็นอย่างนี้บ้าง นำมาสงเคราะห์เข้ากับปัญหาของเราได้อย่างไรถ้าเราจะได้ความจริงแห่งคำตอบมาเราจะต้องทำอย่างไร
เขาต้องการให้น้องคิดอย่างเป็นระบบ คิดด้วยการคำนึงถึงทุกระบบย่อยที่ประกอบกันเป็นระบบใหญ่ มองเห็นภาพรวมทั้งหมด แล้วใช้กลวิธีหาความจริงที่มีในโลกเข้าไปค้นหาความจริงนั้น หากสร้างกลวิธีใหม่ในการค้นหาน้องต้องอธิบายได้ว่า เครื่องมือนั้น กลวิธีนั้นทำงานอย่างไร
สิ่งที่สง่างามที่สุดคือ ผู้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตทุกแห่งได้เห็นผลผลิตของเขาลงมือทำจริง ทำจริงจริง จนทราบผล ผลของการทำจริงนั้นมีข้อมูลอย่างไร สรุปผลข้อมูลนั้นได้อย่างไร และจะสรุปความจริงที่พบอย่างไร
น้องจะเห็นได้ว่าผลของข้อมูล สรุปผลการศึกษา และการอภิปรายผล เราจะแถลงซ้ำๆ กันถึง 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย เป็นการย้ำให้เห็นว่าทุกอย่างผ่านการกลั่นกรองแล้ว 3 ครั้ง และเมื่อยืนยันผลเช่นนี้ ผลที่มีความจริงอยู่ในประเด็นนั้นๆ การให้ข้อเสนอแนะจึงให้น้ำหนักแก่ความจริงที่พบแล้วจะผ่าผ่านข้อจำกัดเดิมในการศึกษาครั้งต่อไปได้อย่างไร แสดงให้เห็นความใส่ใจใคร่ราวญอย่างรอบครอบ ต่อโจทย์ของชีวิตนั้นๆ ดังนั้นความเจริญอย่างยั่งยืนจะตามมาบนการสะสมภูมิปัญญาของน้องอย่างแท้จริง
ภูมิปัญญาที่ประเมินแล้วว่า ผลสำเร็จที่ได้ผ่านโดยไม่มีเงื่อนไข
ภูมิปัญญาที่ปรับใจเข้าหาความเป็นจริง และไม่เขยิบสิ่งที่คาดหวังออกไปให้หัวใจรันทด

ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า
จุดประสงค์ของการเขียนรายงาน คือการนำเสนอความจริงความดีที่ค้นพบ จุดประสงค์ของการนำเสนอรายงาน คือการขยายความจริงความดีที่พบแล้ว
รายงานที่เขียนสามารถบันทึกได้เพียง 20 % ของการค้นพบเท่านั้น
และการนำเสนอยังไม่อาจเติมเต็ม อีก 80 % ของการค้นพบได้
รายงานเป็นเพียงความรู้ชัดแจ้งที่จารจารึกจดไว้อยู่คงทนแต่ไม่งอกเงย
การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ฝังลึกที่อยู่ในตัวตนผู้ค้นหาความจริงไม่คงทนแต่งอกเงยได้อย่างงอกงาม และไม่สามารถนำออกเสนอได้ทั้งหมด
ทุกครั้งที่นำเสนอความรู้ฝังลึกจะปรากฏออกมา ด้วยบริบท บรรยากาศที่แตกต่างกัน ความรู้ฝังลึกนั้นจะค่อยๆถ่ายทอดออกมา ในมิติต่างๆ ที่แตกต่างกัน
เราไม่อาจเขียนความสัมพันธ์ที่เราสร้างก่อนที่จะได้ความคิดและข้อมูลมา
เราไม่อาจเขียนความรู้สึกของผู้ค้นคว้าและประชากรที่เราค้นคว้าได้
เราไม่อาจเขียนบางสิ่งที่ซ่อนเร้นลึกอยู่
เราเพียงรู้ว่าสิ่งที่รู้นั้นยังมีอีกมากที่ไม่ได้เขียน
แม้เราจะเขียนได้ก็เป็นเพียงบางส่วน
ความจริงคือเรามีสิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ภายในตัวเราพร้อมที่จะเปิดออก เมื่อถึงเวลา ในบริบท ในบรรยากาศ และสถานการณ์ถึงพร้อม
เพราะมันฝังอยู่ภายในนั่นคือจุดประสงค์ของการค้นหาความจริงความดี
การค้นหาที่ให้ความจริงความดีแก่เราไว้โดยไม่รู้ตัว จนกว่าจะเกิดโจทย์ที่แท้จริงในชีวิตจริง

เมื่อเกิดขึ้นจงหวนกลับมาหาความสำเร็จที่ประทับใจ แล้วใช้วิธีการนั้นอีกครั้งเพราะมันเป็นหนทางของชีวิตที่มีความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น