วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทำอะไรหลังเกษียณ



หลังจากคำถามว่าอยู่อย่างไรจนถึงเกษียณ ที่ตอบไปแล้วก็มาถึงคำถามว่าจะทำอะไรหลังเกษียณ
ทบทวนตัวเองแล้วพิจารณาคำถามนี้อย่างสร้างสรรค์ ว่าน้องคงเป็นห่วงว่า เราจะอยู่ได้อย่างไร ดำรงตนอย่างไร
นั่นคืออนาคต ถ้าจะตอบว่า Whatever will be, will be. ไม่ได้คิดอะไร อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของคนๆ หนึ่งคือสิ่งเดียวกัน คือตัวตนของเขา
ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยความยากเข็ญทางเศรษฐกิจ และดำรงอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ทางเศรษฐกิจ และตอนจบก็ยังเรียกได้ว่า ยากเข็ญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ชีวิตคนเราไม่ได้มีเพียงด้านเดียวนะครับ ด้านสังคม การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี และจิปาถะที่ไม่ได้กล่าวถึง
แต่เมื่อผมจบชีวิตการทำงานและนับหนึ่งใหม่จะเป็นชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ได้เริ่มจากความยากเข็ญทางเศรษฐกิจอีก เพียงแต่ว่าจะจบอย่างไรอยังไม่รู้ได้
ทั้งหมดที่เล่ามาเพื่อให้เห็นบริบท คนทำงานที่จะจบชีวิตการทำงานและเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังเกษียณ
ชีวิตคนเราเริ่มนับหนึ่งมาหลายครั้งนะครับ เช่น ประถมปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 ปกส.สำรวจปีที่ 1 ทำงานปีที่ 1 ผมจบประถมปีที่ 7 จบมัธยมศึกษาปีที่ 5 จบปกส.สำรวจปีที่ 4 ทำงานจบปีที่ 38 การนับหนึ่งหลังเกษียณนี้ไม่รู้จะจบที่ปีใด

การเริ่มต้นในชีวิตหลังเกษียณนี้คงต้องเริ่มจากจุดประสงค์ว่าจะทำเพื่ออะไร แล้วตามด้วยว่าจะทำอย่างไร
ผมเรียนเพื่อจะได้มีอาชีพทำงาน ทำงานที่ไม่ลงทุนด้วยตัวเอง คือ รับจ้าง จบการเรียนด้วยจุดประสงค์นั้น เมื่อเข้ามาทำงานผมมีจุดประสงค์มากกว่าหนึ่งอย่าง ที่ไปด้วยกันได้ คือทำงานให้ดี เลี้ยงครอบครัวได้ทั้งครอบครัวหลัก พ่อ แม่ น้องๆ และครอบครัวที่ผมสร้างใหม่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ปรับไปตามเหตุการณ์ ผมไม่ได้หวังมากไปกว่านั้น
ตอบคำถามว่าจะทำอะไรด้วยจุดประสงค์ว่า ผมจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง ประเทศชาติ และมนุษยชาติ โดยรวม
ตามด้วยวิธีการว่าจะทำอย่างไร ผมจะทำตามกำลังที่มี และตามเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุน เขียนไปก็เจ็บมือนะครับเพราะเหมือนเอากำปั้นไปทุบดิน


สิ่งที่เป็นประโยชน์ในความหมายของผมคือสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของกำลังที่จะทำได้ ถามตนเองว่าผมทำอะไรได้บ้าง ผมมีทักษะของการทำงานด้านวิชาการ และปฏิบัติการ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และงานฝีมือขนาดย่อม งานที่จะทำคือการวิจัยประเภท Action Research การให้คำปรึกษาแนะนำ การสอนด้านบริหาร และนำกิจกรรมด้าน Soft Side Management มาพัฒนาบุคลากร ความรู้แฝงฝังของผมบนหลายประสบการณ์ในหลายสถานการณ์ยังมีประโยชน์กับมนุษยชาติบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสที่ได้รับด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นจากน้องที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรออยู่ มีน้องที่จองให้ไปบรรยายหลายหลักสูตร  วางแผนจะสร้างการอบรมด้าน Soft Side Management โดย ร่วมกับยอดวิทยายุทธ์ด้านกิจกรรมกลุ่มเพื่อตั้งแคมป์ฝึกตนให้กับคนที่ต้องการเพื่อพัฒนาทั้งผู้เข้าฝึกและตัวเราด้วย และผมปวารณาตัวว่า หาก กฟผ. ต้องการให้ผมมาแลกเปลี่ยนความคิดด้วยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ก็จะไม่ปฏิเสธ
ส่วนการทำตามกำลัง และปัจจัยที่เกื้อหนุน คำบาลีว่า ยถาพลัง ยถาปัจจะยัง กำลังของบุคคลประกอบด้วยกำลังหลายอย่าง เช่น กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ กำลังความคิด และปัจจุบันกำลังจะมาจากเครือข่าย ซึ่งเป็นกำลังมหาศาลที่สร้างทั้ง กาย ใจ ทรัพย์ และความคิด ทั้งผูกพันขยายเครือข่ายจากหนึ่งสู่ทั้งหมดของมนุษยชาติ กำลังกายได้จากดูแลตัวเอง น้องๆ หลายคนบอกให้ลดละเลิกอบายมุข และเสริมด้วยการออกกำลังกาย กำลังใจมาจากพื้นฐานการฝึกตน บนสภาพแวดล้อมของ ครอบครัว สังคม เครือข่าย และศาสนาที่น้อมนำมาปฏิบัติ กำลังทรัพย์มาจากการประหยัดรู้จักใช้ ไม่ติดขัด ไม่ต้องมาก ไม่ต้องน้อย พอคือทรัพย์ ทั้งพอกาย พอใจ พอดีสมดุลไปทุกสิ่ง กำลังความคิด มาจากการสังเกตและเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยปรัชญาที่ว่า ผมเป็นนักเรียนของชีวิต เรียนรู้ ไม่ต่อสู้ นอบน้อมยอมรับ กำลังเครือข่ายมาจาก ความงาม ความดี ความจริง ที่ประพฤติด้วยเมตตาอาทรต่อสรรพชีวิต
สรุปว่าสิ่งที่จะทำหลังเกษียณคือ กลับไปอยู่บ้านเสียทีหลังจากมานาน ดูแลครอบครัว ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติตามกำลังและเหตุปัจจัยที่ประกอบเป็น
ขอบคุณที่ถามและเป็นห่วง 
ขอบคุณด้วยความนอบน้อมครับ

ทิพย์ พัชน์ศรี

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รักกันไว้นะจ๊ะ

อุทิศแด่ 
ศาสตราจารย์กิตติคุณฐะปะนีย์ นาครทรรพ 

ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม
สาขาวรรณศิลป์(ร้อยแก้วร้อยกรอง) พุทธศักราช ๒๕๓๕
ชาตะ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๖๔ มะตะ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
ขอบคุณรูปภาพจาก
http://www.m-culture.go.th/ckfinder/userfiles/images/PR/w9340825-0.jpg
กลอนดอกสร้อย
บ้านเอ๋ยบ้านเมือง

โกรธหรือเคืองเรื่องไหนในชีวิต
ขุ่นเคืองแค้นผู้ใดในดวงจิต

ถูกหรือผิดถกเถียงเพียงต่างเชื่อ
ออกจากกรอบกำหนดบทแนวคิด

เปิดดวงจิตเปลือยใจไม่ให้เหลือ
นอบน้อมให้ทุกคนไม่คลุมเครือ

เปิดที่เพื่อให้ไทยร่วมใจเอย



ต่างเอ๋ยต่างคิด

ต่างจิตต่างใจในทุกหน
ไร้เงื่อนไขเชื่อมใจได้ทุกคน

เดินอยู่บนบาทวิถีที่ปลอดภัย
ยอมรับฟังพลั้งบ้างเปิดทางให้

ด้วยดวงใจใสซื่อทุกสมัย
ดวงจิตมุ่งเมตตาพาอภัย

เชื่อมใจไทยให้ลูกหลานเบิกบานเอย


ด้วยจิตนอบน้อม
ทิพย์ พัชน์ศรี

เด็กที่เคยอยู่ข้างบ้านท่านในซอยสีฟ้า(พหลโยธินซอย 9)
ผมประทับใจในลำนำธรรมรสและบทความธรรม 100 บท
ท่านประพันธ์เป็นกลอนดอกสร้อย

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2555



ขอบคุณภาพจาก http://www.tlcthai.com/poem/wp-content/thumbnails/788.jpg
ขอบคุณภาพจากhttp://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/5/55/Poo-2.jpg

          สำรวมจิต อธิษฐาน กราบกรานครู

สุนทรภู่ ครูกวี ศรีสยาม
อรรถรส บทอักษร กลอนงดงาม

ปิติตาม เติมใจ ได้อ่านกลอน
จินตน ประสาน ผ่านชีวิต

อักขระ ประดิษฐ์ถ้อย ร้อยกรองสอน
เอื้อแก่โลกย์ แก่ธรรม ด้วยอาทร

จิตเร่าร้อน เลือนเย็น เห็นทางเรา



          "ถึงโรงเหล้า เตากลั่น ควันโขมง

มีคันโพง ผูกสาย ไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรม น้ำนรก เจียวอกเรา

ให้มัวเมา เหมือนหนึ่งบ้า เป็นน่าอาย"



          แม้ชีวิต ติดบ่วง ล่วงวัยแล้ว

จมกับแก้ว กับมิตร ติดสหาย
บางครั้งครา มาอยู่ ผู้เดียวดาย

ยังไม่หน่าย ดึ่มเพลิน เกินเปลื้องปลด



          "แล้วสอนว่า อย่าไว้ ใจมนุษย์

มันแสนสุด ลึกล้ำ เหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์ พันเกี่ยว ที่เลี้ยวลด

ก็ไม่คด เหมือนหนึ่งใน น้ำใจคน"



          เหตุฉะนี้ เป็นฉะนั้น ฉันจึงจำ

จึงกระทำ ตามครู อยู่ทุกหน
เดินดุ่มเดียว เดินบน หนทางตน

ถึงทุกข์ทน ไม่ท้อ ถากถางทาง
ยุคสมัย ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง

ทุกทุกสิ่ง มีครู เป็นผู้สร้าง
ให้ดวงจิต จินตนา มาถูกทาง

ตามแนวอย่าง ครูผู้เลิศ ประเสริฐเอย



ด้วยจิตนอบน้อม
ทิพย์ พัชน์ศรี
26 มิถุนายน 2555

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อยู่จนครบเกษียณ


มีคำถามน่าสนใจในวันศุกร์ ที่ 8 มิ.ย. 55 ผมได้เจอเพื่อนร่วมองค์กร คนหนึ่งถามว่า พี่อยู่มาได้อย่างไรจนครบอายุ 60 ปี มันเป็นการยากมากที่จะอยู่ได้นานขนาดนี้ พื่มีหลักอย่างไรในการดำเนินชีวิตการทำงานจนเกษียณ

ผมไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อนเลย เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมบอกเพื่อนว่าผมขอทบทวนเพื่อทำความเข้าใจในตัวเองและจะตอบให้ทราบ



เวลาที่ผ่านมาในช่วงแรกของการทำงานหลังจากได้ทำงาน องค์กรยังไม่ใหญ่โตมากขนาดนี้ ผมเข้างานเมื่อเดือน ธ.ค. 2517 หลังจากปลดทหารเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2517 เข้างานที่เขื่อนบ้านเจ้าเณร กาญจนบุรีทำงานแบ่งแปลงและวางแนวถนนในโครงการอพยพห้วยสามสุ่ย สองปีที่เขื่อนบ้านเจ้าเณรไม่เคยคิดถึงวันเกษียณ โลดแล่นแบบวัยรุ่นวุ่นวายยุ่งเหยิงไปวันๆ แก้ปัญหาไปวันวัน จนย้ายไปอยู่ที่โครงการก่อสร้างเขื่อนปัตตานี ยะลา เมื่อปี 2519 ชีวิตโสดได้เพียงปีเดียว 2520 ก็มีครอบครัว บุกเบิกหัวงาน ทำแนวเข้าหมู่บ้านอพยพ สร้างหมู่บ้านคอกช้าง เอาชีวิตรอดและไม่ได้คิดถึงอนาคตที่ยาวไกลจนเกษียณ ห้าปีผ่านไปเร็วมาก 2524 ย้ายมาโครงการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สุราษฎร์ธานี บุกเบิกทางเข้า ปรับพื้นที่ทำถนนสร้างแคมป์บริเวณ และหัวงานก่อสร้างเขื่อน เสร็จแล้วก่อสร้างหมู่บ้านอพยพ เวลาหกปีผ่านไปเร็วมาก มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นที่เขื่อนเชี่ยวหลานมากมาย และเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ก.ย. 2530 ย้ายมา สนก. เพราะไม่มีเขื่อนจะให้สร้าง 2531 ต้นปีย้ายมาโครงการจัดส่งน้ำ แม่เมาะ ลำปาง ปี 2534 ได้ไปต่างประเทศ กลับมาคิดว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกมากให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กว้างใหญ่นี้ ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ มช. ด้วยทุนตัวเองเพราะขอทุนไม่ได้ อยู่แม่เมาะทำงานด้านอพยพราษฎร์ ไม่ได้ทำถนนและสะพาน อยู่แม่เมาะนานมากจนปักหลักฐานอยู่ลำปาง ที่แม่เมาะ ลำปางมีงานสองช่วง ช่วงแรก2531 ถึง 2541 อยู่โครงการทำงานด้านอพยพและจัดกรรมสิทธิ์ แล้วเมื่อเรียนจบในปี 2541 จึงขอย้ายไปอยู่ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ แต่งานอพยพและจัดกรรมสิทธิ์ ของโครงการจัดการส่งน้ำแม่เมาะหมดในปี 2537 ปี 2538 จึงทำงานด้านคุณภาพและฝึกอบรม รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านโปรแกรมสำเร็จรูป พวก Office ต่างๆ เมื่อย้ายมาศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ ได้มีโอกาสทำงานหลายอย่าง เช่น ปรับโครงสร้างศูนย์ฝึก ทำโครงการความร่วมมือ กฟผ. มช. ทำโครงการให้คำปรึกษากับโรงงานอุตสาหกรรม SMEs และอื่นๆ จนมีการยุบฝ่ายฝึกอบรม ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่าปีไหนเพราะไม่ต้องการจำ รู้แต่ว่าหลังจากนั้นผมและทีมงานฝึกอบรมด้านเทคนิคต้อง ย้ายสังกัดไปเรื่อยสองปีครั้งตลอดระยะเวลา ห้าหกปีหลังจากยุบฝ่ายฝึกอบรม ปี 2547 ที่มีการยุบโครงการศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีโอกาสร่วมทำแผนพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ สายงานผลิตไฟฟ้าฉบับแรก และปี 2548 ได้โอกาสเป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ตามแนวของ สคส.(สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) และพัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการทำงานประจำจนลืมไปว่าอันไหนเป็นงานหลัก  ปี 2552 ถูกย้ายมา สนก.  จนถึงปัจจุบัน

เล่าอดีตมายืดยาวแต่ไม่ละเอียดมากนักเพื่อให้เห็นภาพของคนที่อยู่มายาวนานในองค์กร เพื่อให้เห็นว่าที่อยู่มาได้นั้นเพราะไม่ได้คำนึงถึงวันที่จะต้องเกษียณ แต่ทำงานไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์ และเป้าหมายที่เคลื่อนไป นั่นเป็นแรงดึงจากภายนอกที่ดึงเราไปด้วยงาน ส่วนแรงดันจากภายในนั้น ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่ไม่ร่ำรวย เราต้องทำงานตั้งแต่เด็กด้วยการรับจ้าง สมองทางค้าขายไม่มี เมื่อแม่เลิกรับจ้างหันมาค้าขายผมก็ออกจากบ้านไปรับจ้างแล้ว ทั้งยังอยู่ต่างจังหวัดมาตลอด ได้รับการส่งเสียเลี้ยงดูจนจบ ปกส.สำรวจ ก็สามารถทำมาหากินได้ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าเราจะออกก่อนเกษียณแล้วจะไปทำอะไร เพราะค่อนชีวิตเรารับจ้างมาตลอด และในขณะที่ทำงานนั้นผมก็ไม่ได้สะสมเงินทองอะไรมากมายนัก ใช้จ่ายไปตลอดและไม่ได้วางแผนทางการเงิน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หากมีมากพอแล้วสำหรับคนที่จะใช้ มากพอสำหรับที่จะฝัน พอแล้วคนคนนั้นก็จะหยุด ยุติ เกษียณได้ แต่สำหรับผมคงอยู่ไปตามเวลาจนครบเทอมไม่ใช่มีไม่มากพอ มีเท่าใดก็เท่านั้น เท่าที่มี


ไม่ได้มีหลักอะไรมากำกับชีวิตเท่านั้นก็ดีแล้ว                                   
ไม่ต้องมีอะไรก็ดีแล้ว มันดีอยู่ในตัวของมันเองนั่นแหละ                 
ทำไปเท่าที่ทำได้ดีเอง ขอให้ตั้งใจ มุ่งมั่นทำไป ก็เท่านั้นเอง          
บางครั้งการตั้งกฏเกณฑ์กำหนดชีวิตและยึดถือมากไป ทำความทุกข์ให้กับชีวิตนะ


ในเรื่องปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ บอกว่า คนบางคนเกิดมาเพื่อคนคนเดียวแล้วจะตายไปเพื่อคนคนนั้น คนบางคนเกิดมาเพื่อคนหลายคนแล้วจะตายเพื่อคนหลายคน คนบางคนเกิดมาเพื่อคนหลายคนแล้วตายไปเพื่อคนคนเดียว และคนบางคนเกิดมาเพื่อคนคนเดียวแล้วก็จะตายเพื่อคนหลายคน
ผมเห็นความงดงามในความคิดของเธอ และขอนำมาเป็นแนวคิดว่า

คนบางคนเกิดมาเพื่อองค์กรและจะตายไปเพื่อองค์กร คนบางคนเกิดมาเพื่อตัวเองและจะตายไปเพื่อตัวเอง คนบางคนเกิดมาเพื่อองค์กรและจะตายไปเพื่อตัวเอง และคนบางคนเกิดมาเพื่อตัวเองและจะตายไปเพื่อองค์กร
เราลองเปลี่ยนจากคำว่าเกิดเป็นเข้า และตายเป็นอยู่อาจจะเห็นภาพคนที่อยู่จนเกษียณในอีกมุมหนึ่งได้นะครับ ความนั้นเป็นดังนี้

คนบางคนเข้ามาเพื่อองค์กรและจะอยู่ไปเพื่อองค์กร คนบางคนเข้ามาเพื่อตัวเองและจะอยู่ไปเพื่อตัวเอง คนบางคนเข้ามาเพื่อองค์กรและจะอยู่ไปเพื่อตัวเอง และคนบางคนเข้ามาเพื่อตัวเองและจะอยู่ไปเพื่อองค์กร                                                                         


การดั่งนี้เกิดขึ้นเป็นความงดงามที่ควรเรียนรู้นะครับ องค์กรควรเรียนรู้ว่า จะปรับความคิดของคนในองค์กร ความเชื่อของคนในองค์กรอย่างไร เพราะสัจจะธรรมที่ผ่านจากประสบการณ์ทำให้เราเห็นว่าความคิดของคนเราเคลื่อนที่ไปตามที่เขาประสพ
ผมกำลังแสดงให้เห็นว่าการที่อยู่จนเกษียณนั้นเป็นความคิดเกี่ยวกับการจัดวางความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรกับคนในองค์กรนั้น มิใช่เหตุผลที่เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นผู้สร้างสิ่งนั้น
การอยู่จนเกษียณ สร้างขึ้นมาด้วยสังคม กฏกติกา ความรู้สึก และความยึดถือที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกัน
ความภักดีนั้นจัดเป็นกิจกรรมร่วมมิใช่ กิจกรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง




คนมีความฝันของคน 

องค์กรมีเจตนารมณ์ขององค์กร
http://www.energythai.com/wp-content/uploads/2011/04/Thailand-Resources-Import-Fuel.jpg


อยู่ที่ว่า องค์กรจะเชื่อมสิ่งฝันเข้ากับเจตนารมณ์ได้อย่างไร
อยู่ที่ว่า ผู้นำจะสร้างสิ่งนั้นประการหนึ่ง และอยู่ที่ คนในองค์กรจะสร้างสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน

วันนี้ 11 มิถุนายน 2555 เป็นวันดี เพราะมี เลข 11 มาเกี่ยวข้องด้วย
11 มิ.ย. 2555 ผมระดับ 11 เหลือเป็นคนขององค์กรอีก 111 วัน
และบอกตัวเองว่าวันที่เหลืออยู่อย่าทำงานแบบ 11 คือทำไป One One

ด้วยจิตนอบน้อม

ศิริวัฒน์ เก็งธรรม